วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

งานกระจกสี



งานกระจกสี (อังกฤษStained glass) คำว่า งานกระจกสี หมายถึงงานที่ใช้กระจกสีตกแต่งหรืองานการทำกระจกสี ซึ่งไม่แต่เฉพาะแต่หน้าต่างเท่านั้น ยังรวมถึงศิลปะอื่นๆ ที่ใช้กระจกสีตกแต่งด้วยเช่น บานกระจกที่ทำเพื่อการตกแต่งโดยเฉพาะ หรือโคมตะเกียงเป็นต้น ตลอดระยะพันปีการตกแต่งด้วยกระจกสีจะหมายถึงหน้าต่างประดับกระจกสีของวัด หรือ มหาวิหารทางคริสต์ศาสนา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ การตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยเดิมจะแต่งบนแผงแบนสำหรับใช้ทำหน้าต่าง แต่วิธีการตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยปัจจุบันจะรวมไปถึงโครงสร้างกระจกสีแบบสามมิติและงานแกะสลักกระจกสีด้วย และจะรวมไปถึงบานกระจกสีสำหรับที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “leadlight” ด้วย หรืองานศิลปะที่ทำจากกระจกสีและเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่วอย่างเช่น โคมกระจกสีที่มีชื่อเสียงที่ทำโดย หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี(Louis Comfort Tiffany)

“งานกระจกสี” เป็นงานฝีมือที่ศิลปินต้องมีพรสวรรค์ทางศิลปะเพื่อที่จะออกแบบได้ และต้องมีความรู้ทางวิศวกรรมเพี่อที่สามารถประกอบบานกระจกที่ทำใว้ให้แน่นหนาภายในกรอบสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะกระจกบานใหญ่ๆ ที่จะต้องรับน้ำหนักของตัวบานกระจกเองและสามารถทนทานต่อสภาวะอากาศภายนอกได้ หน้าต่างบานใหญ่เหล่านี้ยังอยู่รอดมาให้เราชมบ้างตั้งแต่สมัยยุคกลางโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในยุโรปตะวันตกหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นจักษุศิลป์ชนิดเดียวที่เหลือมาตั้งแต่ยุคกลาง จุดประสงค์ของหน้าต่างประดับกระจกสีมิใช่ให้ผู้ดูมองออกไปดูโลกภายนอกหรือให้แสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างแต่จะควบคุมผู้อยู่ภายใน จากเหตุผลนี้หน้าต่างประดับกระจกสีจึงอาจจะเรียกได่ว่าเป็น “การตกแต่งผนังส่องแสง” (“illuminated wall decorations”) มากกว่าจะเป็นหน้าต่างอย่างตามความหมายทั่วไปของหน้าต่างที่ใช้มองออกสู่ภายนอก
การออกแบบหน้าต่างวัดอาจจะเป็นได้ทั้งอุปมาอุปไมยหรือไม่ก็ได้ หน้าต่างอาจจะเป็นตำนานจากคัมภีร์ไบเบิล ประวัติศาสตร์ หรือ วรรณคดี หรือ ชีวิตของนักบุญ หรือผู้อุปการะวัด หรืออาจจะเป็นลวดลายสัญญลักษณ์ เช่นตราประจำตระกูล การตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวในหัวข้อเดียวกันเช่นถ้าเป็นวัดก็อาจจะเป็นเรื่องราวชีวประวัติของพระเยซู หรือนักบุญ หรือผู้สร้างวัด ถ้าเป็นภายในวิทยาลัยกระจกอาจจะมีสัญลักษณ์สำหรับศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ หรือภายในบ้านอาจจะเป็นลวดลายแบบใดแบบหนึ่งที่เจ้าของเลือก

ตัวอย่างกระจกสีจาก วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

การทำแก้วชนิดต่างๆ

“แก้วหลอด” (Cylinder glass) แก้วหลอดทำจากแก้วเหลวที่ทำเป็นลูกกลมๆ แล้วเป่าจนกระทั่งเป็นหลอดกลวงเหมือนขวด เรียบและหนาเท่ากัน พอได้ที่ก็ตัดออกจากท่อเป่า แผ่ออกไปให้แบน แล้วรอให้เย็นลงเพื่อความทนทาน แก้วชนิดนี้เป็นแก้วชนิดที่ใช้ประดับหน้าต่างกระจกสีที่เราเห็นกันทุกวันนี้

“แก้วมงกุฏ” (Crown glass) แก้วชนิดนี้จะเป่าเป็นทรงถ้วยแล้ววางบนโต๊ะหมุนที่สามารถหมุนได้เร็ว แรงเหวี่ยงของการหมุนทำให้แก้วแผ่ยืดออกไป จากนั้นก็เอาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ได้ แก้วชนิดนี้ใช้ในการประดับหน้าต่างกระจกสี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้แต่งกรอบเล็กๆภายในหน้าต่างของที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ลักษณะของกระจกแบบนี้จะเป็นระลอกจากศูนย์กลาง เพราะตรงกลางกระจกจะได้แรงเหวี่ยงน้อยที่สุดทำให้หนากว่าส่วนอื่น ชิ้นกลางนี้จะใช้สำหรับสเปชเชียลเอฟเฟกต์เพราะความขรุขระของพื้นผิวทำให้สะท้อนแสงได้มากกว่าชิ้นอื่น กระจกชิ้นนี้เรียกว่า “กระจกตาวัว” (bull's eye) มักจะใช้กันสำหรับที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 19 และบางครั้งก็จะใช้ในวัดด้วย

“แก้วโต๊ะ” (Table glass) ผลิตโดยการเทแก้วเหลวลงบนโต๊ะโลหะแล้วกลึงด้วยท่อนโลหะที่เป็นลวดลาย ลายจากท่อนโลหะก็จะฝังบนผิวกระจก แก้วแบบนี้จึงมีแบบมีผิว ( texture) หนักเพราะการที่แก้วมีปฏิกิริยาต่อโลหะเย็น แก้วชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันภายในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาในชื่อที่เรียกกันว่า “cathedral glass” ถึงแม้จะไม่ใช่แก้วที่ใช้ในการสร้างมหาวิหารในสมัยโบราณแต่มาใช้กันมากในการสร้างวัดในศตวรรษที่ 20

“แก้วเคลือบ” (Flashed glass) แก้วสีแดงที่ทำจากเบ้าโลหะที่กล่าวข้างต้นสีแดงมักจะออกมาไม่ได้อย่างที่ต้องการจะออกไปทางดำ และราคาการผลิตก็สูงมาก วิธีใหม่ที่ใช้ทำสีแดงเรียกว่า “flashing” ทำโดยเอา “แก้วหลอด” ใสที่ไม่มีสีที่กึ่งเหลวจุ่มลงไปใหนเบ้าแก้วแดงแล้วยกขึ้น แก้วแดงก็จะเกาะบนผิวแก้วใสที่ไม่มีสีบางๆ พอเสร็จก็ตัดออกจากที่เป่า แล้วแผ่ให้แบนและปล่อยไว้ให้เย็น

การผลิตกระจกสีในสมัยปัจจุบัน

ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ผลิตกระจกสีโดยเฉพาะที่ ประเทศเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศโปแลนด์ ที่ยังผลิตกระจกสีลักษณะแบบดั้งเดิมโดยใช้วิธีการทำแบบสมัยโบราณ กระจกสีที่ผลิตโดยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในงานปฏิสังขรณ์หน้าต่างกระจกสีที่สร้างก่อนปีค.ศ. 1920 หน้าต่างกระจกสีสมัยใหม่ และงานหัตถกรรม หลังจากนั้นมักจะใช้แก้วหลายแบบโดยเฉพาะสมัยวิคตอเรีย
Stained Glass Windows, St. Vitus Cathedral, Prague, Czech Republic, Europe